วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สาระสำคัญของสัญญาประกันภัย


สาระสำคัญของสัญญาประกันภัย6

1.  เป็นสัญญาต่างตอบแทน7  
                เมื่อคู่กรณีแสดงเจตนาจะเอาประกันภัยและรับประกันภัยถูกต้องตรงกัน สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันเป็นค่าตอบแทนที่ผู้รับประกันเข้าเสี่ยงภัยแทน  ในขณะเดียวกันหากเกิดวินาศภัยในอนาคตผู้รับประกันต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้  อันมีลักษณะเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน  ตามม.369

2.  เป็นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับแน่นอน
                สัญญาประกันภัยจะแตกต่างจากสัญญาต่างตอบแทนประเภทอื่น คือ เป็นสัญญาที่อาศัยเหตุการณ์ไม่แน่นอน หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไข เช่น ประกันอัคคีภัยบ้าน 20 ปี ตลอดเวลาประกันไม่เคยเกิดไฟไหม้เลย ผู้รับประกันไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเบี้ยประกัน  หรือ ผู้รับประกันอาจเสียค่าสินไหมทดแทนกรณีไฟไหม้ภายใน 20 ปี ดังนั้นผลบังคับของสัญญาจึงไม่แน่นอน 

3.  เป็นสัญญาที่ต้องการความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง
                การใช้สิทธิของบุคคลกฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยสุจริตตามม. 5 คู่สัญญาไม่มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายที่จะต่อรองให้เกิดผลดีแก่ตนมากที่สุด  เว้นแต่ถ้าคู่กรณีนิ่งเสีย ไม่ไขข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่รู้และได้ทำสัญญาโดยหลงเชื่อ ก็ถือเป็นกลฉ้อฉลได้  แต่สัญญาจะตกเป็นโมฆียะ ตามม. 162 เมื่อปรากฏว่าการนิ่งเฉยนั้นถึงขนาดถ้าไม่นิ่งเสียคู่กรณีอีกฝ่ายไม่ยอมทำสัญญาด้วย    ในส่วนสัญญาประกันภัยต้องการความซื่อสัตย์สุจริตสูงขึ้นอีก  โดยเพียงนิ่งเฉยไม่เปิดเผยความจริงซึ่งอาจทำให้ผู้รับประกันเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่ยอมทำสัญญาหรือเพียงแค่แถลงเท็จเท่านั้น  สัญญาตกเป็นโมฆียะตามม. 865  สัญญาประกันภัยจึงมีลักษณะพิเศษที่กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาฝ่ายเอาประกันมีหน้าที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของตนให้ผู้รับประกันทราบ เนื่องจากผู้รับประกันต้องเข้าเสี่ยงภัยแทนจึงต้องทราบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจ  จึงกำหนดให้ผู้เอาประกันมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลนั้น เรียกหลักนี้ว่า หลักสุจริตอย่างยิ่ง  

4.  เป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ 
                ม. 867 วรรคแรก บัญญัติว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่8 
                สัญญาประกันภัยกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำตามแบบ หรือต้องทำเป็นหนังสือ  กฎหมายเพียงบังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงเท่านั้น หมายความเฉพาะกรณีมีการเรียกร้องกันระหว่างคู่สัญญาเท่านั้นไม่รวมถึงบุคคลภายนอกด้วย  ดังนั้นหากมีการเรียกร้องกันระหว่างผู้รับประกันกับบุคคลภายนอกก็ไม่อยู่ในบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง
ฎ. 5133/2542 สัญญาประกันภัย กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน
                ส. ผู้จัดการจำเลย สาขาขอนแก่น มิได้เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลย ส. จึงไม่มีอำนาจรับประกันรถยนต์บรรทุกคันพิพาทไว้จากโจทก์ แต่การที่ ส. รับคำขอประกันภัยไว้การโจทก์ ก็เพียงเพื่อส่งคำสนองของโจทก์ให้แก่บริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ พิจารณาว่าจะรับประกันภัยได้หรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นคำสนองรับประกันภัย เมื่อบริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ เพิ่งได้รับคำเสนอของโจทก์เมื่อเวลา 13.55 นาฬิกา อันเป็นเวลาหลังที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทได้เกิดเหตุไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสนองตอบรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทเมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่าขณะที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทเกิดอุบัติเหตุ จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แล้ว อันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
                ฎ 192/2524  กรมธรรม์ประกันภัย9 มิได้ปิดอากรแสตมป์แต่คดีนี้มิใช่กรณีบังคับระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย  เป็นเรื่องผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาฟ้องคนภายนอกไม่อยู่ในบังคับต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.พ.พ. ม. 867 คำพยานของโจทก์ฟังได้โดยไม่ต้องอาศัยเอกสาร
               
5.  เป็นสัญญาซึ่งราชการควบคุม
                โดยเหตุที่ฝ่ายผู้รับประกันเป็นผู้กำหนดแบบและรายละเอียดในกรมธรรม์ฝ่ายเดียว อาจเป็นช่องให้ประชาชนเสียเปรียบได้ง่าย  กฎหมายจึงกำหนดมาตรการควบคุมตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ม. 29   สรุปได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันต้องเป็นไปตามแบบและข้อคามที่นายทะเบียนเห็นชอบ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ด้วย นายทะเบียนมีอำนาจสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมกรมธรรม์บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ 

___________________________

6สุธาสินี  ธิติสุทธิ,วิชากฎหมายประกันภัย[Online], แหล่งที่มาwww.law.cmu.ac.th/law2011/journal/61001.doc[6 สิงหาคม]
7จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528), หน้า 43.
8จำรัส เขมะจารุ, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย (พระนคร :โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2515),หน้า 15.
                9ขุนสมาหารหิตะคดี [โป๊ โปรคุปต์],กรมธรรม์ประกันภัย[Online], แหล่งที่มา http://th.wikisource.org/wiki/พจนานุกรมกฎหมาย/กรมธรรม์ประกันภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น