วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บรรณานุกรม

1. ณัฐวัสส์ อิศรางกูร ณ อยุธยาคำอธิบายกฎหมายประกันภัย .ม.ป.ท. : สู่ฝัน,ม.ป.ป.
2. สุธาสินี  ธิติสุทธิ.วิชากฎหมายประกันภัย[Online], แหล่งที่มาwww.law.cmu.ac.th/law2011/journal/61001.doc[6 สิงหาคม 2554].
3. พรชัย สุนทรพันธุ์,รศ.   คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะประกันภัย .ม.ป.ท. :พลสยาม พริ้นติ้ง, ม.ป.ป.
4. จำรัส เขมะจารุ. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย. พระนคร :โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2515.
5. จิตติ ติงศภัทิย์. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528.
6. ขุนสมาหารหิตะคดี [โป๊ โปรคุปต์].กรมธรรม์ประกันภัย[Online], แหล่งที่มา http://th.wikisource.org/wiki/พจนานุกรมกฎหมาย/กรมธรรม์ประกันภัย[6สิงหาคม 2554]. 
 

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย


ม. 862  บัญญัติว่า ตามข้อความในลักษณะนี้
                คำว่า ผู้รับประกันภัย ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
                คำว่า ผู้เอาประกัน ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
                คำว่า ผู้รับประโยชน์ ท่านหมายความว่า บุคคลผู้พึงจะได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้ 
                อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้10

                1.             ผู้รับประกันภัย  กฎหมายบัญญัติให้การประกอบธุรกิจประกันภัยกระทำในรูปบริษัทที่จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนี้เท่านั้น  ถ้ามีผู้รับประกันภัยในลักษณะเป็นการค้ามิใช่บริษัทและไม่ได้รับอนุญาต ย่อมเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ ตามม. 150
                ฎ 1106/2516  การที่สมาชิกสมาคมต้องชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีไปและต้องชำระเงินช่วยการกุศลแรกเข้ากับต้องชำระเงินค่าช่วยในการทำศพให้แก่สมาชิกที่ถึงแก่กรรม  เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสมาคม ตามจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดในวันที่สมาชิกถึงแก่กรรม  โดยสมาคมหักร้อยละ 20 เงินที่สมาชิกชำระมีลักษณะเป็นเบี้ยประกันและสมาคมจ่ายเงินให้อาศัยความมรณะของสมาชิก  การดำเนินกิจการของสมาคมจึงมีลักษณะเป็นการประกันภัย

                2.             ผู้เอาประกันภัย  ได้แก่คู่สัญญาที่ตกลงกันจะส่งเบี้ยประกัน11และมีเจตนาเข้าผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย  นอกจากนี้ผู้เอาประกันภัยอาจให้ผู้อื่นออกหน้าเป็นตัวการเข้าทำสัญญาประกันภัยก็ได้ เช่น
 ฎ. 656/2521 โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากห้าง ส. ตามระเบียบของห้าง ส. นั้น รถที่เช่าซื้อทุกคันจะต้องเอาประกันภัยไว้ในนามของห้าง โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้จ่ายเงินเบี้ยประกัน ห้าง ส. แนะนำลูกค้าให้บริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นแก่ห้าง โจทก์ติดต่อกับบริษัทจำเลยเอาประกันภัยรถพิพาท แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุนามผู้เอาประกันภัยว่าห้าง ส. แต่ก็วงเล็บชื่อโจทก์ต่อท้ายไว้ด้วย และระบุที่อยู่ของโจทก์เป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย การที่มีชื่อห้าง ส. ในกรมธรรม์ก็เพราะเป็นการสะดวกแก่การที่จำเลยจะมาเก็บเงิน และเพื่อห้าง ส. จะได้ค่าคอมมิชชั่น โดยโจทก์นำเงินเบี้ยประกันมาฝากที่ห้าง ส. เพื่อชำระให้จำเลย จำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัย เพราะหลังจากที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ห้าง ส. ก็มิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อรถพิพาทชนกับรถอื่นได้รับความเสียหายในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ( หลังจากที่ได้ชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว ) โจทก์ขอเงินชดใช้ตามกรมธรรม์เป็นค่าซ่อมรถ จำเลยเพิกเฉย โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจจะฟ้องจำเลย
หากได้ความเพียงว่าเป็นผู้ส่งเงินเบี้ยประกันเท่านั้น อาจไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย  เช่น ห้าง ก. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับบริษัทประกันภัย  โดยมีนาย ข. เป็นผู้เช่าซื้อรถจากห้าง ก. และเป็นผู้ออกเบี้ยประกันตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ  นาย ข. ไม่ใช่ผู้เอาประกันตามม. 862 เป็นเพียงผู้กระทำการแทนห้าง ก. ซึ่งเป็นตัวการตามม. 820 จึงถือว่าห้าง ก.เป็นผู้เอาประกัน   (ฎ 5/2527) 
                บุคคลแม้มิได้ลงชื่ออาจถือเป็นคู่สัญญาต้องรับผิด หรือผูกพันในฐานะคู่สัญญา หากพฤติการณ์ฟังได้ว่าเป็นตัวการตัวแทนกัน 
                ฎ 1968/2523  ก. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์แต่ใส่ชื่อ ข.เป็นเจ้าของในทะเบียนและให้ ข. นำรถยนต์ไปประกันภัยค้ำจุนกับบริษัท ค. จึงถือได้ว่า ก. เป็นตัวการเชิด ข. ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตาม ม. 821 และถือเท่ากับว่า ก. เข้าทำสัญญากับบริษัท ค. เอง
               
                3.             ผู้รับประโยชน์12     ถ้าเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์จากผู้รับประกันภัยได้ทันทีในฐานะคู่สัญญา  แต่ถ้าผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลภายนอกต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากผู้รับประกันเสียก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกัน ตามม. 374 วรรค 2   การแสดงเจตนาไปยังลูกหนี้สามารถทำได้โดยทำเป็นหนังสือ วาจา เมื่อผู้รับประกันทราบเจตนาแล้ว  สิทธิของผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับชำระหนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีโดยผลของกฎหมาย และเมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นแล้ว  คู่สัญญาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ตาม ม. 375 แต่ถ้ายังไม่มีการแสดงเจตนาต่อผู้รับประกันภัย  ในระหว่างนี้คู่สัญญาประกันภัยสามารถเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ได้  
                ถาม        ถ้าผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่แสดงเจตนาเข้าถือประโยชน์  ในระหว่างนั้นมีเหตุเกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา  หากผู้รับประกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันไปแล้ว  ภายหลังผู้รับประโยชน์จะมาแสดงเจตนาเข้าถือสิทธิได้หรือไม่ 
                ตอบ       ไม่ได้ เพราะถือว่าสิทธิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแล้ว  โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่าง ผู้เอาประกันและผู้รับประกัน ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้รับประโยชน์ทราบ ตามม. 375
ฎ. 1950 / 2543 โจทก์นำรถยนต์คันที่หายเอาประกันไว้กับจำเลยโดยระบุให้ บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก สิทธิของบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา ตราบใดที่ยังมิได้แสดงเจตนาดังกล่าว คู่สัญญาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นได้ เมื่อ บริษัท ก. ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แสดงว่าได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่สัญญามีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป และโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเองได้ จึงมีอำนาจฟ้อง
                ฎ. 132 /2540 โจทก์เช่าซื้อรถบรรทุกจากบริษัท ก.  บริษัท ก. จัดการให้โจทก์เอาประกันภัยกับจำเลย โดยระบุให้บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นคู่สัญญาประกันวินาศภัยกับจำเลย
โดยมีบริษัท ก. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 862 เมื่อบริษัท ก. มิได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัย สิทธิของบุคคลภายนอกจึงยังไม่เกิดตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อรถบรรทุกพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยได้โดยบริษัท ก. ไม่จำต้องโอนสิทธิเรียกร้องหรือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้อง

___________________________
           
            10จำรัส เขมะจารุ, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย (พระนคร :โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2515),หน้า 18.
            11สุธาสินี  ธิติสุทธิ,วิชากฎหมายประกันภัย[Online], แหล่งที่มาwww.law.cmu.ac.th/law2011/journal/61001.doc[6 สิงหาคม]
                12พรชัย สุนทรพันธุ์,  คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะประกันภัย (ม.ป.ท. :พลสยาม พริ้นติ้ง, ม.ป.ป.),หน้า 30.

สาระสำคัญของสัญญาประกันภัย


สาระสำคัญของสัญญาประกันภัย6

1.  เป็นสัญญาต่างตอบแทน7  
                เมื่อคู่กรณีแสดงเจตนาจะเอาประกันภัยและรับประกันภัยถูกต้องตรงกัน สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันเป็นค่าตอบแทนที่ผู้รับประกันเข้าเสี่ยงภัยแทน  ในขณะเดียวกันหากเกิดวินาศภัยในอนาคตผู้รับประกันต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้  อันมีลักษณะเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน  ตามม.369

2.  เป็นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับแน่นอน
                สัญญาประกันภัยจะแตกต่างจากสัญญาต่างตอบแทนประเภทอื่น คือ เป็นสัญญาที่อาศัยเหตุการณ์ไม่แน่นอน หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไข เช่น ประกันอัคคีภัยบ้าน 20 ปี ตลอดเวลาประกันไม่เคยเกิดไฟไหม้เลย ผู้รับประกันไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเบี้ยประกัน  หรือ ผู้รับประกันอาจเสียค่าสินไหมทดแทนกรณีไฟไหม้ภายใน 20 ปี ดังนั้นผลบังคับของสัญญาจึงไม่แน่นอน 

3.  เป็นสัญญาที่ต้องการความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง
                การใช้สิทธิของบุคคลกฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยสุจริตตามม. 5 คู่สัญญาไม่มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายที่จะต่อรองให้เกิดผลดีแก่ตนมากที่สุด  เว้นแต่ถ้าคู่กรณีนิ่งเสีย ไม่ไขข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่รู้และได้ทำสัญญาโดยหลงเชื่อ ก็ถือเป็นกลฉ้อฉลได้  แต่สัญญาจะตกเป็นโมฆียะ ตามม. 162 เมื่อปรากฏว่าการนิ่งเฉยนั้นถึงขนาดถ้าไม่นิ่งเสียคู่กรณีอีกฝ่ายไม่ยอมทำสัญญาด้วย    ในส่วนสัญญาประกันภัยต้องการความซื่อสัตย์สุจริตสูงขึ้นอีก  โดยเพียงนิ่งเฉยไม่เปิดเผยความจริงซึ่งอาจทำให้ผู้รับประกันเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่ยอมทำสัญญาหรือเพียงแค่แถลงเท็จเท่านั้น  สัญญาตกเป็นโมฆียะตามม. 865  สัญญาประกันภัยจึงมีลักษณะพิเศษที่กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาฝ่ายเอาประกันมีหน้าที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของตนให้ผู้รับประกันทราบ เนื่องจากผู้รับประกันต้องเข้าเสี่ยงภัยแทนจึงต้องทราบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจ  จึงกำหนดให้ผู้เอาประกันมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลนั้น เรียกหลักนี้ว่า หลักสุจริตอย่างยิ่ง  

4.  เป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ 
                ม. 867 วรรคแรก บัญญัติว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่8 
                สัญญาประกันภัยกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำตามแบบ หรือต้องทำเป็นหนังสือ  กฎหมายเพียงบังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงเท่านั้น หมายความเฉพาะกรณีมีการเรียกร้องกันระหว่างคู่สัญญาเท่านั้นไม่รวมถึงบุคคลภายนอกด้วย  ดังนั้นหากมีการเรียกร้องกันระหว่างผู้รับประกันกับบุคคลภายนอกก็ไม่อยู่ในบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง
ฎ. 5133/2542 สัญญาประกันภัย กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน
                ส. ผู้จัดการจำเลย สาขาขอนแก่น มิได้เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลย ส. จึงไม่มีอำนาจรับประกันรถยนต์บรรทุกคันพิพาทไว้จากโจทก์ แต่การที่ ส. รับคำขอประกันภัยไว้การโจทก์ ก็เพียงเพื่อส่งคำสนองของโจทก์ให้แก่บริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ พิจารณาว่าจะรับประกันภัยได้หรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นคำสนองรับประกันภัย เมื่อบริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ เพิ่งได้รับคำเสนอของโจทก์เมื่อเวลา 13.55 นาฬิกา อันเป็นเวลาหลังที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทได้เกิดเหตุไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสนองตอบรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทเมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่าขณะที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทเกิดอุบัติเหตุ จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แล้ว อันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
                ฎ 192/2524  กรมธรรม์ประกันภัย9 มิได้ปิดอากรแสตมป์แต่คดีนี้มิใช่กรณีบังคับระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย  เป็นเรื่องผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาฟ้องคนภายนอกไม่อยู่ในบังคับต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.พ.พ. ม. 867 คำพยานของโจทก์ฟังได้โดยไม่ต้องอาศัยเอกสาร
               
5.  เป็นสัญญาซึ่งราชการควบคุม
                โดยเหตุที่ฝ่ายผู้รับประกันเป็นผู้กำหนดแบบและรายละเอียดในกรมธรรม์ฝ่ายเดียว อาจเป็นช่องให้ประชาชนเสียเปรียบได้ง่าย  กฎหมายจึงกำหนดมาตรการควบคุมตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ม. 29   สรุปได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันต้องเป็นไปตามแบบและข้อคามที่นายทะเบียนเห็นชอบ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ด้วย นายทะเบียนมีอำนาจสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมกรมธรรม์บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ 

___________________________

6สุธาสินี  ธิติสุทธิ,วิชากฎหมายประกันภัย[Online], แหล่งที่มาwww.law.cmu.ac.th/law2011/journal/61001.doc[6 สิงหาคม]
7จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528), หน้า 43.
8จำรัส เขมะจารุ, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย (พระนคร :โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2515),หน้า 15.
                9ขุนสมาหารหิตะคดี [โป๊ โปรคุปต์],กรมธรรม์ประกันภัย[Online], แหล่งที่มา http://th.wikisource.org/wiki/พจนานุกรมกฎหมาย/กรมธรรม์ประกันภัย

สัญญาประกันภัย

มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัย หากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญาและใน การนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย 5
มีข้อพิจารณาอยู่ 3 ประการ
1.             เป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่ง  ในการที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าลักษณะประกันวินาศภัย  คือถ้ามีภัยเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ 
ส่วนการที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง  เข้าลักษณะประกันภัยประเภทกำหนดจำนวนเงินแน่นอน หรือสัญญาประกันชีวิต  ซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสียหายว่ามีเพียงใด หากมีเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา
2.             มีเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน คือ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตอันเป็นวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา แสดงให้เห็นความไม่แน่นอนของหนี้ฝ่ายผู้รับประกันภัย ซึ่งแล้วแต่เงื่อนไขดังกล่าวว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนหนี้ของผู้เอาประกันภัยที่ต้องส่งเบี้ยประกันภัยนั้นแน่นอนเสมอ  ที่กฎหมายแยกวินาศภัยกับเหตุการณ์อย่างอื่น เนื่องจากลักษณะที่แตกต่างของสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าที่เสียหายจริงๆ จะเรียกเกินเป็นกำไรมิได้เป็นอันขาด (ฎ 64/2516)  ส่วนที่ว่าเหตุการณ์อย่างอื่นในอนาคตนั้นได้แก่ประกันชีวิตคือ ความตาย
วินาศภัยที่ประกันภัยต้องมีลักษณะไม่แน่นอน ซึ่งอยู่ในความหมายที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 861 ว่า หากมีขึ้น (contingent loss) เหตุการณ์อย่างอื่นที่ระบุในสัญญาก็ต้องเป็นเหตุการณ์ในอนาคต  เหตุการณ์หรือวินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้วจะเอามาเป็นเหตุประกันภัยไม่ได้
ฎ. 2513/2518 กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สิ้นอายุเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคมเกิดอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์เมื่อวันที่  27 กรกฎาคม โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 22 กรกฎาคม กรณีเช่นนี้ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในสัญญาประกันภัยในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับประกันวินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้ว โดยศาลฎีกาวินิจฉัยคำว่า วินาศภัยหากมีขึ้นตามมาตรา 861 ว่า หมายถึง วินาศภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากวันทำสัญญา วินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้วจะเอามาประกันภัยไม่ได้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุอายุการประกันภัยย้อนหลังเป็นวันที่ 22 กรกฎาคม ก่อนเกิดวินาศภัยก็หาทำให้ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์นั้นได้ไม่
3.             บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ผู้มีหน้าที่ส่งเบี้ยประกันเรียกว่า ผู้เอาประกันภัย  เบี้ยประกันนี้เป็นเงินอาจส่งเป็นงวดหรือส่งเป็นก้อนก็ได้

___________________________

                5จำรัส เขมะจารุ, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย (พระนคร :โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2515),หน้า 14.

ประเภทของสัญญาประกันภัย


ประเภทของสัญญาประกันภัย

1.             ประกันวินาศภัย3  คือ ประกันภัยความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นไม่แน่นอนในอนาคตตามที่ตกลงกันไว้และความเสียหายนั้นสามารถประมาณเป็นเงินได้  แบ่งเป็น 3 ประเภท
                1.1          ประกันวินาศภัยทั่วไป  วินาศภัย หมายถึง บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ ซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ก็สามารถที่จะเอาประกันภัยได้ทั้งสิ้น  เช่น การประกันอัคคีภัย พายุ แผ่นดินไหว  ประกันยานยนต์  เครื่องจักร  ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันการโจรกรรม ประกันภัยพืชผล  ประกันภัยสัตว์เลี้ยง ประกันกระจกของร้านขายของ ประกันภัยความสุจริตของลูกจ้าง ประกันภัยการสูญเสียกำไรจากภาวะเศรษฐกิจ  ส่วนความโศกเศร้าเสียใจที่ต้องสูญเสียของรักไปไม่สามารถประมาณเป็นเงินได้ จึงเอาประกันไม่ได้
                1.2          ประกันภัยรับขน  เป็นสัญญาคุ้มถึงวินาศภัยทุกอย่าง เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า เรือจม การปล้นลักขโมย  ระเบิด เป็นต้น แต่ต้องเป็นวินาศภัยที่เกิดขึ้นระหว่างขนส่ง ทั้งสิ่งของที่ขนส่งไปตามลำพังหรือสิ่งของที่ขนส่งไปพร้อมกับคนโดยสาร หรือที่ติดตัวไปกับผู้โดยสาร  ในกรณีเป็นประกันภัยรับขนทางทะเลไม่อยู่ในบังคับ ป.พ.พ. ม. 868 แต่ให้ใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล ได้แก่ สนธิสัญญา คำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศ คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  แนวปฏิบัติหรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศ 
                1.3          ประกันภัยค้ำจุน  หรือ ประกันภัยความรับผิด คือ การที่ผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายจากการกระทำของผู้เอาประกันหรือผู้ที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิด   เช่น 
                1.  รับประกันความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจต่อบุคคลอื่น เช่น เจ้าของโรงแรม บ้านเช่า โรงละคร  ร้านอาหาร ตกลงทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนในกรณีบุคคลภายนอกได้รับอุบัติเหตุเพราะเข้าไปในสถานที่ไม่ว่าอุบัติเหตุต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน
                2.  รับประกันภัยความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์-คนไข้  เภสัชกร-ผู้ซื้อยา  ทนายความ-ลูกความ  ผู้ทำบัญชี สถาปนิก วิศวกร
                3.  รับประกันความรับผิดชอบส่วนบุคคลต่อบุคคลอื่นเช่น ประกันภัยคุ้มครองบุคคลที่สามในกรณีขับรถชนบุคคลอื่นเสียหาย  บริษัทประกันจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายตามจำนวนประกันภัยที่กำหนดไว้ 

                2.             ประกันชีวิต4 คือ สัญญาซึ่งผู้รับประกันตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งที่แน่นอนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ในเมื่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้เอาประกันชีวิตไว้ได้ตายลง หรือเมื่อผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่ตกลงกันไว้  ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตอาจทำได้ 3 แบบ

1.     แบบซึ่งอาศัยความทรงชีพของบุคคล  เช่น มีการตกลงกันว่าถ้านาย ก. ผู้เอาประกันมีชีวิตถึง 60 ปี ผู้รับประกันจะต้องใช้เงินให้  แต่ถ้านาย ก. ตายก่อนอายุ 60 ปี ผู้รับประกันไม่ต้องใช้เงินให้
2.     แบบซึ่งอาศัยความมรณะของบุคคล  เช่น ถ้านาย ก. ผู้เอาประกันตายภายในเวลา 20 ปีนับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต  ผู้รับประกันจะจ่ายเงินให้  ถ้านาย ก. ไม่ตายภายใน 20 ปี ผู้เอาประกันไม่ได้รับการใช้เงินจากผู้รับประกัน 
3.     สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทุนหรือสะสมทรัพย์  นำสองแบบข้างต้นมารวมกัน  เป็นสัญญาอาศัยกำหนดเวลาเป็นหลัก คือ ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้หากผู้เอาประกันตายลง  ผู้รับประกันจะใช้เงินให้ และเมื่อถึงกำหนดเวลาผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่  ผู้รับประกันก็ต้องใช้เงินเช่นเดียวกัน

___________________________
           
            3พรชัย สุนทรพันธุ์,  คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะประกันภัย (ม.ป.ท. :พลสยาม พริ้นติ้ง, ม.ป.ป.),หน้า 112.
                4เรื่องเดียวกัน,หน้า 193.

บททั่วไป

ประกันภัย1 มีลักษณะเป็นการเฉลี่ยทรัพย์บางส่วนจากสมาชิกผู้เอาประกันมารวมไว้เป็นกองกลางจำนวนหนึ่ง  เมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายตามสัญญา ผู้รับประกันภัยจะนำเงินจากกองกลางใช้ให้แก่ผู้เสียหาย  จากหลักการนี้ผู้รับประกันภัยต้องพิจารณาโอกาสแห่งภัยที่จะเกิดขึ้นว่าควรเป็นเท่าใด เรียกว่า ทฤษฎีความน่าจะเป็น2 (Theory of probability) และจำนวนผู้เอาประกันภัยเป็นปริมาณมากพอเพียง เรียกว่า ทฤษฎี (Theory of Great Numbers)

                ประกันภัย หมายถึง  การโอนความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัยไปยังผู้รับประกันภัย   โดยมีการสัญญาว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ตกลงกันไว้  ผู้รับประกันจะจ่ายค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่รับประกัน  โดยผู้เอาประกันต้องส่งเงินจำนวนหนึ่งให้ผู้รับประกันเป็นเบี้ยประกัน 
                ประกันภัย  หมายถึง วิธีการเฉลี่ยความเสียหายของบุคคลหนึ่งไปให้แก่บุคคลอื่น เพื่อแบ่งภาระความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นให้หมดไปหรือเบาบางลง 

                                                                กฎหมายสำคัญเกี่ยวข้องกับประกันภัย

1.             ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 20 แบ่งเป็น 3 หมวด
หมวด 1  บทเบ็ดเสร็จทั่วไป  (ม.861-868)
หมวด 2  ประกันวินาศภัย    แยกเป็น  - ประกันวินาศภัยทั่วไป (ม.869-882)
                                                            - ประกันภัยรับขน  (ม. 883-886)
                                                         - ประกันภัยค้ำจุน (ม. 887-888)
หมวด 3  ประกันชีวิต  (ม. 889-897) 
2.             กฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะ
                2.1  พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
                2.2  พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535
3.             กฎหมายประกันภัยภาคบังคับ  ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535


___________________________

                1ณัฐวัสส์ อิศรางกูร ณ อยุธยา,  คำอธิบายกฎหมายประกันภัย (ม.ป.ท. : สู่ฝัน,ม.ป.ป.),หน้า 13.
          2สุธาสินี  ธิติสุทธิ,วิชากฎหมายประกันภัย[Online], แหล่งที่มาwww.law.cmu.ac.th/law2011/journal/61001.doc[6 สิงหาคม]